วันอาทิตย์ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2558

อยากขาสวยไร้เลือดขอด อย่าปล่อยไว้เกินแก้..ใบบัวบกช่วยรักษาเส้นเลือดขอด

เส้นเลือดขอดเป็นภาวะที่หลอดเลือดดำ หรือลิ้นหลอดเลือดดำบริเวณขาอ่อนแอ ทำให้การไหลเวียนเลือดบริเวณขากลับไปเลี้ยงหัวใจได้ไม่ดี เลือดจึงถูกย้อนกลับมาคั่งบริเวณที่ขาทำให้เกิดอาการเส้นเลือดปูดโป่งพอง เป็นปัญหาด้านความสวยงามที่ผู้หญิงเราไม่อยากให้เกิด แม้ว่าเส้นเลือดขอดจะไม่ใช่โรคร้าย แต่ก็สร้างความรำคาญใจให้ผู้หญิงไม่น้อย บางคนอาจจะหาทางออกด้วยการผ่าตัด ใช้เลเซอร์ เพื่อให้ขากลับมาเรียวงามเหมือนเดิม นอกจากการผ่าตัดแล้วการรับประทานใบบัวบกเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของผู้ที่มีปัญหากับเส้นเลือดขอด

ผลงานวิจัยหลายชิ้นได้ทำการใช้ใบบัวบกทดลองรักษาผู้ที่มีอาการเส้นเลือดขอด พบว่า 8 ใน 10 คนมีอาการดีขึ้น เส้นเลือดที่โป่งพองนั้นยุบตัวลง เนื่องจากสารไตรเตอรพีนอยด์ (Triterpenoid) ช่วยลดการอุดตันของเส้นเลือด ทำให้ระบบไหลเวียนโลหิตทำงานดีขึ้น และอีกหนึ่งงานวิจัยที่สนับสนุนของ ดร. แดเนียล มาวรีย์ กล่าวว่า ใบบัวบกมีส่วนช่วยให้เพิ่มประสิทธิภาพในการไหลเวียนของเส้นเลือดดำ ป้องกันและลดการเกิดเส้นเลือดขอด นอกจากนี้ยังช่วยเชื่อมต่อเนื้อเยื่อที่ถูกทำลายด้วย

ความสำคัญของใบบัวบกที่มีต่อระบบประสาทจึงเป็นผลให้นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ และแพทย์หลายสถาบันวิจัยเกี่ยวกับการต่อชีวิตมนุษย์ให้ยืนยาว เพื่อเพิ่มความเป็นหนุ่มสาว แต่ผลงานวิจัยกำลังอยู่ในขั้นตอนการทดลอง ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตามชาวเอเชียส่วนหนึ่งก็ยังคงรับประทานใบบัวบกอย่างน้อยวันละ 1-2 ใบ เพียงเชื่อว่าจะทำให้สุขภาพแข็งแรงและมีอายุยืนขึ้น

สูตรน้ำใบบัวบก

ส่วนผสม

ใบบัวบก 2 ถ้วย
น้ำสะอาด 2 ถ้วย
น้ำเชื่อม 1/2 ถ้วย
วิธีทำ

นำใบบัวบกสดล้างน้ำให้สะอาด จากนั้นนำไปใส่เครื่องปั่นผสมกับน้ำสะอาด ปั่นให้เนื้อเข้ากันและกรองด้วยผ้าขาวบาง เทกากทิ้งเอาเฉพาะน้ำเท่านั้น
นำน้ำใบบัวบกที่ได้เติมน้ำเชื่อม ชิมรสตาใจชอบ หรือจะเติมน้ำแข็งเพื่อเพิ่มความสดชื่น
สรรพคุณ

เป็นความโชคดีของชาวไทยที่สมุนไพรชนิดนี้หารับประทานได้ง่าย ซึ่งมีทั้งในรูปของเครื่องดื่ม หรือใบสด โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งในรูปของอาหารเสริม ใบบัวบกมีสรรพคุณช่วยแก้ช้ำใน แก้ร้อนใน กระหายน้ำ ช่วยกระตุ้นในการไหลเวียนโลหิต ช่วยบรรเทาอาการเส้นเลือดขอด

วันศุกร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

ผู้มีรูปโฉมงดงามนางนพมาศ

สตรีแต่งกายเป็นนางนพมาศ ในงานประเพณียี่เป็ง จังหวัดเชียงใหม่ พ.ศ. 2548

นางนพมาศ หรือ เรวดีนพมาศ หรือ ท้าวศรีจุฬาลักษณ์  เป็นสตรีที่ปรากฏอยู่ใน "เรื่องนางนพมาศ หรือ ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์" ที่อ้างอิงว่าถูกรจนาขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย มีเนื้อความว่านางนพมาศบอกเล่าถึงความเป็นไปภายในรัฐสุโขทัยว่ามีความเจริญรุ่งเรืองสมบูรณ์พูนสุขนานัปการ ในรัฐมีคนต่างชาติต่างภาษาและศาสนาอาศัยอยู่ร่วมกัน และเรื่องที่เด่นที่สุดคือการที่นางประดิษฐ์กระทงขึ้นมา จนนางนพมาศได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของประเพณีลอยกระทง กล่าวกันว่านางนพมาศมีรูปโฉมงดงาม ในยุคหลังเมื่อคราเทศกาลลอยกระทงก็มีการประกวดประขันนางนพมาศสืบมา

อย่างไรก็ตามได้มีข้อสงสัยเกี่ยวกับการมีตัวตนจริงของนางนพมาศ มีนักประวัติศาสตร์หลายท่าน อาทิ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ, นิธิ เอียวศรีวงศ์ และสุจิตต์ วงษ์เทศ เห็นว่าเรื่องนางนพมาศนั้นเป็นเพียงเรื่องที่แต่งขึ้นช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์เท่านั้นเอง


ประวัติ
ใน เรื่องนางนพมาศ หรือ ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ระบุว่า นางนพมาศเป็นธิดาของพราหมณ์ในราชสำนักสมัยกรุงสุโขทัย รับราชการเป็นพระปุโรหิตตำแหน่งพระศรีมโหสถ ยศกมเลศครรไลหงส์ พงศ์มหาพฤฒาจารย์ กับมารดาชื่อนางเรวดี นางนพมาศจึงมีอีกชื่อหนึ่งว่า เรวดีนพมาศตามนามมารดา ต่อมาบิดามารดาของนางได้ถวายตัวนางแก่พระร่วงเจ้า (บางแห่งว่าคือพญารามราช  บ้างว่าเป็น พญาเลอไท) และเลื่อนเป็นพระสนมเอกในตำแหน่งท้าวศรีจุฬาลักษณ์  เนื่องด้วยคิดค้นประดิษฐ์กระทงรูปดอกบัวในพระราชพิธีจองเปรียงเป็นที่ถูกพระราชหทัยพระร่วงเจ้า


เด็กหญิงที่เข้าประกวดหนูน้อยยี่เป็ง (นางนพมาศรุ่นเด็ก) ที่จังหวัดเชียงใหม่ ปี พ.ศ. 2548

แรกเริ่มได้เกิดข้อสงสัยเกี่ยวกับการมีตัวตนของนางนพมาศ ปรากฏครั้งแรกในพระดำรัสของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพว่า "หนังสือเรื่องนางนพมาศ ซึ่งฉันเข้าใจว่าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์" และ "ว่าโดยทางโวหาร ใคร ๆ อ่านหนังสือเรื่องนี้ด้วยความสังเกตจะแลเห็นได้โดยง่าย ว่าเปนหนังสือแต่งในครั้งกรุงรัตนโกสินทร์นี้เอง แต่งในระหว่างรัชกาลที่ 2 กับที่ 3 ไม่ก่อนนั้นขึ้นไป ไม่ทีหลังนั้นลงมาเปนแน่...และยังซ้ำมีความที่กล่าวผิดที่จับได้โดยแจ่มแจ้งว่าเปนของใหม่หลายแห่ง ยกตัวอย่างดังตรงว่าด้วยชนชาติต่างๆ หนังสือนี้ออกชื่อฝรั่งหลายชาติ ซึ่งที่จริงไม่ว่าชาติใดยังไม่มีเข้ามาในประเทศนี้เมื่อครั้งนครศุโขไทยเปนราชธานีเปนแน่"

ขณะที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และกรมหลวงวงศาธิราชสนิท ทรงนับถือหนังสือเรื่องนี้อยู่ ทรงคาดว่าหนังสือเรื่องนางนพมาศของดั้งเดิมน่าจะถูกแต่งขึ้นโดยท้าวศรีจุฬาลักษณ์พระสนมเอกในสมเด็จพระร่วงเจ้าจริง หากแต่ฉบับเดิมอาจจะเก่าและขาดหายไปบ้าง จึงมีผู้ที่อยู่ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์แต่งขึ้นใหม่โดยตั้งใจจะปฏิสังขรณ์ให้เรียบร้อย แต่ผู้แต่งมิได้ถือเอาความจริงเท็จในพงศาวดารเป็นสำคัญ แต่ต้องการจะแต่งให้ไพเราะเพราะพริ้งเรียบเรียงลงไปตามความรู้ที่มีอยู่ในเวลานั้น เรื่องราวในหนังสือจึงวิปลาสไป

ศาสตราจารย์ ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้ระบุไว้ว่า "ความน่าสนใจของหนังสือเรื่องนี้อยู่ที่ว่าเป็นงานวรรณกรรมที่เขียนในสมัยช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ความพยายามที่ไปจัดนางนพมาศเป็นวรรณกรรมสุโขทัยนั้นได้ปิดบังมิให้ได้เห็นสิ่งที่น่าตื่นเต้นอันแฝงเร้นอยู่ในวรรณกรรมชิ้นนี้มาเป็นเวลานาน

สุจิตต์ วงษ์เทศ ที่มองว่านางนพมาศไม่มีตัวตนจริง ได้กล่าวว่า "ถ้าหากนางนพมาศที่มีตัวตนอยู่จริงก็คงจะมีเพียงบรรดา "เทพีนางนพมาศ" ที่ชนะการประกวดความงามประจำปีตามเวทีประกวดต่าง ๆ ทั่วประเทศไทยมานานหลายสิบปี ซึ่งก็คงจะมีเยอะเกินจนยากที่จะจดจำได้ไหว"

ทั้งนี้ประเพณีหลวงทางน้ำพบไม่พบในรัฐที่อยู่เหนือจากกรุงศรีอยุธยาขึ้นไป ส่วนตระพังน้ำในสุโขทัยก็มีไว้ใช้อุปโภคบริโภคในวัดและวัง หาได้ทำกิจสาธารณะอย่างการลอยกระทงอย่างใด ส่วนในศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ 1 ที่กล่าวถึงการ "เผาเทียน เล่นไฟ" มีความหมายรวม ๆ เพียงว่าการทำบุญไหว้พระเท่านั้น และไม่ปรากฏการลอยกระทงเลย  เข้าใจว่าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์เรื่องดังกล่าวขึ้นเพื่อฟื้นฟูพิธีกรรมสำคัญเพื่อความอุดมสมบูรณ์ของอาณาจักร และด้วยความจำเป็นบางประการจึงทรงสมมุติฉากยุคพระร่วงเจ้ากับตัวละครสมมติคือนางนพมาศด้วยให้กระทงทำจากใบตอง นิธิ เอียวศรีวงศ์ได้คาดการณ์ว่าเรื่องนางนพมาศนี้ถูกเขียนขึ้น "ต้องแต่งอยู่ระหว่าง พ.ศ. 2360-2378 เป็นช้าที่สุด หนังสือนางนพมาศจึงเป็นวรรณกรรมของต้นรัตนโกสินทร์ชิ้นหนึ่ง มีลักษณะร่วมกับวรรณกรรมของยุคเดียวกันหลายประการ" และแพร่หลายจากวังหลวงไปสู่เมืองต่าง ๆ แถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา โดยอ้างอิงเรื่องนางนพมาศเป็นสำคัญ ประวัติและเรื่องราวของนางนพมาศจึงแพร่หลายโดยทั่วไป

แม้จะมีการเปิดเผยว่าเรื่องนางนพมาศและประเพณีลอยกระทงมิได้เกิดขึ้นในสมัยสุโขทัยก็ตาม กระนั้นทางราชการไทยยังคงหยิบยกเรื่องนางนพมาศขึ้นมาโฆษณาวัฒนธรรมไทยเพื่อขายการท่องเที่ยวอยู่

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี