วันจันทร์ที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2560

รีวิวภาษาไทยที่มักเขียนผิด คำไทย รู้ไว้มีค่า (5)

คำไทย รู้ไว้มีค่า
วันนี้เอาคำทับศัพท์ที่มักเขียนผิดมาฝากอีกแล้วครับ
เปอร์เซ็นต์ VS เปอร์เซนต์
คำที่ถูก   =>   เปอร์เซ็นต์
คำที่ผิด   =>   เปอร์เซนต์

เปอร์เซ็นต์ มาจากภาษาอังกฤษครับสะกดว่า percent ส่วนภาษาไทยใช้คำว่า อัตราร้อยละ จะเขียนก็ยาวนะครับ จึงใช้เครื่องหมายเปอร์เซ็นต์ [%] ในการเขียนเป็นส่วนใหญ่ อย่างไรก็ตามเมื่อถึงเวลาต้องสะกดก็อย่าลืมนะครับ คำว่า เปอร์ ต้องไม่มี “ไม้ไต่คู้” (ตัวที่เหมือนเลขแปดไทยนั่นล่ะครับ) แต่คำว่า เซ็นต์ ต้องใส่ “ไม้ไต่คู้” ด้วยนะครับ

ดาวน์ VS ดาว์น, ดาว
คำที่ถูก   =>   ดาวน์
คำที่ผิด   =>   ดาว์น, ดาว

ดาวน์ คำนี้มาจาก Down ในภาษาอังกฤษ โดยปกติก็แปลว่า ลง ตกสู่เบื้องล่าง หรือถ้าคนไทยจะคุ้นๆ กับคำทับศัพท์นี้เวลาซื้อสินค้าที่มีราคาสูงต้องแบ่งชำระเป็นงวดๆ คำว่า “ดาวน์” นี้จะแปลว่า การชำระเงินงวดแรกนั่นเอง นอกจากนี้ก็อาจจะคุ้นเคยกับภาษาคอมพิวเตอร์ เช่นคำว่า ดาวน์โหลด Download ซึ่งเป็นขั้นตอนการบรรจุลงของข้อมูล ก็จะสะกดว่า “ดาวน์” เช่นกันครับ ต้องมี “นอ หนู-การันต์” ด้วยนะ ถ้าไม่มีจะกลายเป็นดาว ที่ออกนอกอวกาศไปนู่น

คอลัมน์ VS คอลัมภ์, คอลัมม์
คำที่ถูก   =>   คอลัมน์
คำที่ผิด   =>  คอลัมภ์, คอลัมม์

คอลัมน์ มาจากคำว่า column ในภาษาอังกฤษเช่นกันครับ ใช้ “นอ หนู-การันต์” นะ ส่วนมากเราได้ยินคำว่า คอลัมน์ จากหนังสือประเภทหนังสือพิมพ์ วารสาร หรือนิตยสาร ที่แปลว่า บทความ เช่น คอลัมน์สังคม คอลัมน์กีฬา เป็นต้น แต่โดยปกติแล้ว คอลัมน์ แปลว่า แถว แนว การแบ่งเป็นแถว ดังนั้น บทความในสิ่งพิมพ์เหล่านั้น เรียงพิมพ์เป็นแนว เป็นแถว จึงถูกเรียกว่า คอลัมน์ เช่นกันครับ

มาฝึกเขียนประโยคกันครับ ลองแต่งประโยค โดยใช้ 3 คำด้านบนกันดูนะครับ
_____________
รู้ไว้ใช่ว่า เกมก่อนเพล วันที่ 15 สิงหาคม 2560

วันพุธที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2560

รีวิวภาษาไทยที่มักเขียนผิด คำไทย รู้ไว้มีค่า (4)

คำไทย รู้ไว้มีค่า

อนาถ VS อนาจ
คำที่ถูก   =>   อนาถ
คำที่ผิด   =>  อนาจ

อนาถ มีความหมายว่า น่าสงสาร น่าสังเวช สลดใจ  ต้องสะกดด้วย “ถ ถุง”  คำว่า อเนจอนาถ ก็นิยมใช้ แปลว่า น่าสลดใจสังเวชอย่างยิ่ง


พิสมัย VS พิศมัย
คำที่ถูก   =>   พิสมัย
คำที่ผิด   =>  พิศมัย, พิษมัย

พิสมัย แปลว่า ความรัก ความชื่นชม มักจะถูกสะกดด้วย “ศ ศาลา” หรือผิดอย่างหนักก็สะกดด้วย “ษ ฤๅษี” ซึ่งไม่มีความหมายทั้งคู่ ที่ถูกต้องคือ พิสมัย สะกดด้วย “ส เสือ” ครับ


กระทันหัน VS กะทันหัน
คำที่ถูก   =>   กะทันหัน
คำที่ผิด   =>  กระทันหัน

เรามักจะคุ้นเคยกับคำที่มี “กระ” นำหน้า ทำให้หลายๆ คนสะกดคำว่า กะทันหันให้มี “ร เรือ” ควบกล้ำไปด้วย ซึ่งจะกลายเป็นคนผิดไปเลย จำง่ายๆ ว่า กะทันหัน คือ ทันที ไม่ต้องมีเรือพ่วงไปด้วยหรอกนะ

คำไทย รู้ไว้มีค่า
มาฝึกเขียนประโยคกันครับ ลองแต่งประโยค โดยใช้ 3 คำด้านบนมาผูกเป็นเรื่องเดียวกันดูนะครับ
_______________
ขอบคุณพิเศษ รู้ไว้ใช่ว่า เกมก่อนเพล วันที่ 10 สิงหาคม 2560

วันอังคารที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2560

รีวิว คำไทยที่มักเขียนผิด คำไทย รู้ไว้มีค่า (3)

บุคคลากร VS บุคลากร
คำที่ถูก   =>   บุคลากร
คำที่ผิด   =>   บุคคลากร

ส่วนใหญ่จะสับสนกับคำว่า บุคคล ซึ่งต้องมี “ค ควาย” 2 ตัว แต่คำว่า บุคลากร มี “ค ควาย” เพียงแค่ตัวเดียวนะ

 สังเกต VS สังเกตุ
คำที่ถูก   =>   สังเกต
คำที่ผิด   =>   สังเกตุ

สังเกต เป็นอีกคำยอดที่นิยมที่มักสะกดผิด ต้องจำแม่นๆ นะครับ สังเกต ไม่มี “สระอุ” ครับ

สัมมนา VS สัมนา
คำที่ถูก   =>   สัมมนา
คำที่ผิด   =>   สัมนา

คำว่า สัมมนา แปลว่า การประชุมทางวิชาการเพื่อปรึกษาหารือในการดำเนินงานอย่างใดอย่างหนึ่ง มาจากคำว่า seminar ในภาษาอังกฤษ สะกดให้ถูกต้องของแท้ต้องมี “ม ม้า” 2 ตัวนะครับ

มาฝึกเขียนประโยคกันครับ ลองใช้คำทั้ง 3 คำด้านบน มาแต่งเป็นประโยคกันดูนะครับ
_______________
ขอบคุณภาพและบทความจาก รู้ไว้ใช่ว่า เกมก่อนเพล วันที่ 8 สิงหาคม 2560

วันเสาร์ที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2560

รีวิวภาษาไทยที่มักเขียนผิด คำไทย รู้ไว้มีค่า ที่2

คำไทย รู้ไว้มีค่า
เกสร VS เกษร
คำที่ถูก   =>   เกสร
คำที่ผิด   =>   เกษร

เกสร คือ ส่วนในของดอกไม้ เกสรดอกไม้ สะกดด้วย “ส เสือ” นะครับ จึงจะเป็นคำที่ถูกต้อง

ตำหรับ VS ตำรับ
คำที่ถูก   =>   ตำรับ
คำที่ผิด   =>   ตำหรับ

คำว่า ตำรับ มีความหมายว่า ตำรำ หรือ คู่มือ แม้จะสะกดว่า ตำรับ แต่เวลาอ่านให้ออกเสียงว่า ตำ-หรับ นะครับ อย่าไปจำสลับกันเชียวล่ะ

บิดพริ้ว VS บิดพลิ้ว
คำที่ถูก   =>   บิดพลิ้ว
คำที่ผิด   =>   บิดพริ้ว

บิดพลิ้ว แปลว่า หลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามสัญญา หรือการปฏิบัติไม่ตรงตามข้อตกลง คำนี้มักสะกดสับสนกับคำว่า “พลิ้ว” ที่ใช้ “ร เรือ” ควบกล้ำที่มีความหมายว่า สั่นไหว หรือโบกไหว ซึ่งที่ถูกต้องจะสะกดว่า บิดพลิ้ว นะครับ

มาฝึกเขียนประโยคกันครับ ลองใช้คำทั้ง 3 คำด้านบน มาแต่งเป็นประโยคโดยผูกเป็นเรื่องราวเดียวกันดูนะครับ

วันพฤหัสบดีที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2560

รีวิว ภาษาไทยที่มักเขียนผิด คำไทย รู้ไว้มีค่า ที่1

คำไทย รู้ไว้มีค่า

ขะมักเขม้น VS ขมักเขม้น
คำที่ถูก   =>   ขะมักเขม้น
คำที่ผิด   =>   ขมักเขม้น

คำนี้แต่เดิมอ่านออกเสียงว่า ขะ-มัก-ขะ-เม่น แต่ปัจจุบันก็อนุโลมให้ออกเสียงว่า ขะ-หมัก-ขะ-เม่น ได้ แต่การสะกดยังคงเดิม คือ มีสระอะ แค่ ข. ไข่ ตัวหน้าเท่านั้นนะครับ


อนุญาติ VS อนุญาต
คำที่ถูก   =>   อนุญาต
คำที่ผิด   =>   อนุญาติ

อนุญาตเป็นคำยอดฮิตสะกดผิดทั่วประเทศอีกหนึ่งคำ อาจจะเพราะการชินกับคำว่า "ญาติ" ซึ่งที่จริงก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกันสักนิด ในเมื่อไม่เกี่ยวข้องก็ไม่ใช่ญาติ ดังนั้น ก็ไม่ต้องเติม "สระอิ" ไงล่ะ เหตุผลแบบนี้ดีไหมล่ะ ฮ่าๆ


หลงใหล VS หลงไหล
คำที่ถูก   =>   หลงใหล
คำที่ผิด   =>   หลงไหล

คำนี้ก็เป็นอีกหนึ่งคำ ที่มักใช้เคยชินของอีกคำหนึ่งมาสะกดบ่อยๆ คือคำว่า ไหล แต่คำว่า หลงใหล ต้องใช้ สระไอ-ไม้ม้วน สะกดเท่านั้นครับ
มาฝึกเขียนประโยคกันครับ ลองใช้คำทั้ง 3 คำด้านบน มาแต่งเป็นประโยคกันดูนะครับ
___________
ขอบคุณพิเศษ เวบ รู้ไว้ใช่ว่า เกมก่อนเพล วันที่ 3 สิงหาคม 2560